“เรามีความตั้งใจที่จะช่วยสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยทั้ง น้องสุนัขและแมวให้มีสุขอนามัยที่ดี แต่การเปิดรับบริจาคหรือการนำของไปมอบอาจไม่ตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืน ตนและทีมจึงมีความคิดว่าหากเรานำผลวิจัยที่ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อยู่แล้วมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่า และนำรายได้ ผลกำไร จากส่วนนั้นมาขยายผลจะช่วยน้องสุนัขและแมวที่ไร้บ้านได้มากขึ้นจึงเป็นที่มาสู่การจัดตั้ง สตาร์ทอัพ ภายใต้ชื่อ บริษัท เพ็ทเฟรนลี่คอมมูนิตี้ จำกัด (PET-FRIENDLY COMMUNITY)” อาจารย์ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา อาจารย์ประจำหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา และเป็นผู้บริหารในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมวิจัย และผู้ประกอบการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงจุดตั้งต้นที่สำคัญของ PET-FRIENDLY COMMUNITY
อาจารย์ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา เล่าต่อไปว่า PET-FRIENDLY COMMUNITY เราจัดตั้งขึ้นเพื่อนำผลกำไรหลังจากหักค่าใช้จ่ายต้นทุนแล้วไปต่อยอดช่วยเหลือสุนัขและแมวไร้บ้านตามจุดต่างๆ โดยมุ่งทำงานร่วมกับองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ที่ดูแลในด้านนี้ ซึ่งกลุ่มสินค้าของเราเป็นสินค้าคุณภาพดีผ่านงานวิจัยตามมาตรฐานสากล ยกตัวอย่างเช่น ครีมอาบน้ำ ยารักษาผิว โดยวางเป้าจัดจำหน่ายในร้านสัตว์เลี้ยงทั่วไป และกำไรอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นจะถูกจัดสรรมาช่วยเหลือสังคมน้องที่ไร้บ้าน โดยล่าสุดเราได้ไปพูดคุยกับทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ในการนำโมเดลธุรกิจไปนำเสนอ ซึ่งถือเป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้
“เราเชื่อว่าการสร้างบริษัทฯเพื่อสร้างรายได้และนำกำไรมาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือสังคมเป็นอีกโจทย์ที่สามารถสร้างความยั่งยืนในมิติต่างๆได้ ซึ่งล่าสุดทาง PET-FRIENDLY COMMUNITY ได้ลงพื้นที่และนำเอาผลิตภัณฑ์มามอบให้กับทาง Thailand Adopter Club ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่อาสาหาบ้านให้น้องสุนัขและแมวให้กับสังคมไทย ซึ่งทีมงานทุกคนรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขอนามัยที่ดี โดยก้าวเดินต่อจากนี้เราพร้อมที่จะนำผลกำไรจากการขายสินค้ามาขยายผลเพื่อช่วยเหลือน้องสุนัขและแมวในอนาคตต่อไป” อาจารย์ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา กล่าวเสริม
ด้านผู้ก่อตั้ง Thailand Adopter Club เล่าว่า วันนี้เรายินดีอย่างมากที่ทาง PET-FRIENDLY COMMUNITY นำสินค้าที่จำเป็นต่อการดูแลน้องสุนัขอย่างเช่น แชมพูอาบน้ำ มามอบให้ ซึ่งนอกจากการหาบ้านให้กับน้องๆแล้วสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาเติมเต็มยังเข้ามาสร้างโอกาสที่ดีให้กับน้องๆ อย่างไรก็ตามสำหรับ Thailand Adopter Club วันนี้เราเป็นหนึ่งอาสาสมัครทีมที่พร้อมขับเคลื่อนการหาบ้านให้กับน้องสุนัขและแมวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ขณะนี้มีสุนัขและแมวไร้บ้านอยู่กว่า 170 ตัว ฉะนั้นการทำงานในเชิงบูรณาการลักษณะนี้คือกุญแจสำคัญสู่การช่วยเหลือสังคมของน้องๆ ให้ดียิ่งขึ้น
“PET-FRIENDLY COMMUNITY ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยเหลือสังคมสัตว์ไร้บ้าน ที่สำคัญเป็นอีกแรงบันดาลใจในการนำเอางานวิจัยต่างๆที่ขึ้นหิ้งนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาจริง โดยก้าวเดินในปีนี้นอกจากขยายตลาดสัตว์เลี้ยงด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพการทำงานเพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวไร้บ้านคือสิ่งที่เราจะดำเนินการแบบคู่ขนานต่อไปอย่างเข้มข้น” อาจารย์ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา กล่าวทิ้งท้าย
////////