สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร เพื่อยกระดับและสร้างผลกระทบที่ชัดเจนให้กับภาคการเกษตรของประเทศ เน้นการส่งเสริมและขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization; RU) เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ ในมิติด้านนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดประสงค์หลักของนโยบายแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งเน้นการเร่งรัด ผลักดันการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้จากผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการต่อยอดและขยายผลการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
งานวิจัย สวก. มุ่งเป้าตอบโจทย์และขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยใน 3 กลุ่มหลักด้วยกันคือ 1) BCG โดยพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความยั่งยืน, เพิ่มรายได้ให้กับประเทศโดยให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิต เน้นตลาดนำการผลิต 2) เศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับ Smart farming การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มศักยภาพให้เกษตรกร พัฒนาให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม สร้างความมั่นคงทางรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 3) นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ แก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อรับมือกับการปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรที่จะต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขณะเดียวกันการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตให้มีความสมดุลนั้น ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายกับภาคเกษตร
โดยทั้ง 3 กลุ่ม จึงไม่ใช่เพียงสอดคล้องแค่โจทย์ประเทศ แต่สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพลิกโฉมระบบอาหารและเกษตร (Agri-food systems transformation) ของ Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการผลิต โภชนาการและสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น (Better Production, Better Nutrition, Better Environment and Better Livings)
ดร. วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ เผยนโยบายการขับเคลื่อนหน่วยงานในปี 2566 ว่า “ในปี 2566 สวก. นอกจากกรอบนโยบายในการให้ทุนที่จะเน้นใน 3 เรื่องหลักแล้ว สวก. ยังมีเป้าหมายในการสนับสนุนทุนโครงการวิจัยที่พร้อมขยายผล (Research Utilization : RU) ด้วยงบประมาณกว่า 85 ล้านบาท ใน 4 แผนงาน คือมุ่งเน้นดำเนินงาน RU ภาคการเกษตรด้านสังคม ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมและจัดการความรู้จากนวัตกรรมการเกษตรสู่การใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตพืชและสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทานในเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) (2) การส่งเสริมและจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) การส่งเสริมและจัดการ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ด้านนิเวศเกษตร และ (4) การส่งเสริมและจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับนโยบายเร่งด่วนด้านการเกษตรที่ต้องเร่งเดินหน้า ผอ. สวก เผยว่า “เป็นเรื่องการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อทดแทนแรงงานขาดแคลนในภาคการเกษตร, การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น การพัฒนาอาหารสัตว์โดยการพึ่งพาการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น ลดการนำเข้า, High Value Ingredient โดยการพัฒนาวัตถุดิบ และการสกัด สมุนไพรไทย/สินค้าเกษตร ที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน, ระบบเฝ้าระวัง การควบคุมโรคระบาด การผลิตสารกำจัดศัตรูพืช วัคซีน ยารักษาโรค ในโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสินค้าเกษตรสำคัญ, การสร้างระบบหรือแพลตฟอร์มในการเข้าถึงทรัพยากรของเกษตรกร รวมทั้งแหล่งเงินทุน องค์ความรู้และฐานข้อมูลต่าง ๆ ด้านการเกษตร และนวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อคาดการณ์ปริมาณสินค้าเกษตรแบบอัตโนมัติ”
ดร. วิชาญ ทิ้งท้ายไว้อีกว่า สวก. มีความพร้อมด้านการส่งเสริมและการจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ โดยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศได้อย่างยั่งยืน ผ่านกลไกกระบวนการจัดการความรู้ให้เป็นระบบ และมีชุดข้อมูลที่มีความพร้อมสามารถนำไปถ่ายทอดขยายผล เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ หรือเป็นทางเลือกให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายสร้างผลกระทบจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แก่ผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตสินค้า ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต วัตถุดิบทางการเกษตร ผู้ผลิต และแปรรูป 2 เท่าของงบประมาณที่สนับสนุนการวิจัย
นอกจากนี้ สวก. ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของคนในพื้นที่ ขยายผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มทักษะและการเรียนรู้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ในกลุ่มคน พื้นที่ หรือจังหวัด เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง พร้อมผลักดันให้หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์และกลุ่มเป้าหมาย นำผลงานวิจัยหรือองค์ความรู้ไปแก้ปัญหา ทั้งมิติคน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสาร ผลงานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือขอรับทุนวิจัยได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. https://www.arda.or.th/
ช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม
เฟซบุคแฟนเพจ : www.facebook.com/ardathai
www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017
Youtube : www.youtube.com/@ardathailand
บล็อกองค์ความรู้ด้านการเกษตรอย่างง่าย ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย: http://blog.arda.or.th/