วันพุธ, มกราคม 01, 2025

Event

ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ประจำปี 2565 มุ่งเชื่อมโยงและเสริมพลังให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคว้าโอกาสใหม่ ๆ

ประเทศไทยได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC) ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 บทบาทนี้มาพร้อมกับโอกาสและหน้าที่อันสำคัญสำหรับไทย เนื่องจากความสำคัญของเอเปคที่มีมาอย่างยาวนาน ตลอดจนบริบทที่มีความโดดเด่นในปีนี้

เอเปคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีไทยเป็นประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง และนับตั้งแต่นั้นมา การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นนี้ก็ได้ขยับขยายจนมี 21 เขตเศรษฐกิจชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมด้วย

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ค่านิยมหลักของเอเปคยังคงเป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ปัจจุบัน เอเปคมีประชากรรวมแล้วกว่า 2.8 พันล้านคน โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP โลกและการค้าโลก

เนื่องจากการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในปีแรกหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ธีมที่ประเทศไทยเลือกมาสำหรับการประชุมเอเปคในปี 2565 จึงเป็น “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของไทยคือ การเปิดกว้างโอกาสใหม่ ๆ สู่ภูมิภาค การเชื่อมโยงทุกมิติเข้าด้วยกัน และการช่วยให้เกิดความสมดุลในทุกด้าน

โดยปกติแล้ว เขตเศรษฐกิจ 21 แห่งของเอเปคจะใช้การประชุมประจำปี เพื่อเป็นเวทีในการหารือเกี่ยวกับหนทางในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ แต่สำหรับในปีนี้ ประเทศต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทุกฝ่ายต้องการเชื่อมโยงถึงกันอีกครั้ง ประกอบกับความต้องการค้นพบโอกาสใหม่ ๆ ที่จะช่วยเร่งการเติบโต และสร้างภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นมาใหม่

สำหรับแนวคิดริเริ่มของไทยที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ข้างต้น ได้แก่ การฟื้นฟูการเจรจาด้านเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ในโลกยุคหลังโควิด-19 รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ หรือ Safe Passage Taskforce และการเดินหน้าตามเป้าหมายกรุงเทพ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bangkok Goals on the Bio-Circular-Green (BCG) Economy ซึ่งจะเป็นเอกสารที่บรรดาผู้นำจะมีการรับรองในการประชุมเอเปคปีนี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นในการก้าวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยได้ให้ความสนใจกับการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับศักยภาพของมนุษย์ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (MSME) ตลอดจนเพิ่มความสามารถของผู้หญิงผ่านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น และการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

หลังผ่านพ้นความซบเซาอันเป็นผลพวงจากโควิด-19 ในปี 2565 เอเปคจึงเตรียมความพร้อมไม่เพียงแต่ในแง่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศของตนเท่านั้น แต่ยังต้องแข็งแกร่งขึ้น และพร้อมมากขึ้นที่จะบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งในระยะยาว ไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพก็จะแสดงศักยภาพในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งด้วยเช่นกัน

สัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week) จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ส่วนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่กรุงเทพฯ โดยก่อนการประชุมหลัก ไทยเตรียมจัดประชุมเวทีย่อยหลายรายการ ซึ่งรวมถึงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของเอเปคครั้งสุดท้าย และการประชุมระดับรัฐมนตรีของเอเปค ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจากชาติต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย