สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางและจัดทำไอเดียวางแผนกิจกรรมไมซ์ Thailand 7 MICE Magnificent Themes เพื่อพัฒนาสถานที่จัดกิจกรรมไมซ์หรือเส้นทางกิจกรรมไมซ์ใหม่เพื่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไมซ์ ที่จะสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยนำเสนอผ่าน 7 มุมมอง ได้แก่ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การผจญภัย การสร้างทีมเวิร์ค กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ กิจกรรมบรรยากาศชายหาด การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ และกิจกรรมนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย ไอเดียสร้างสรรค์เส้นทางสายไมซ์นี้จะเพิ่มทางเลือก เปิดมุมมองใหม่ในการสร้างประสบการณ์ประทับใจให้กับผู้ประกอบการไมซ์ และเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ในการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านอุตสาหกรรมไมซ์และสร้างกิจกรรมไมซ์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค สสปน. จึงได้จัดกิจกรรม Domestic Fam Trip ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านอุตสาหกรรมไมซ์และสร้างกิจกรรมไมซ์
นายสุวัชชัย นิมมานเทวินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักภาคกลางและตะวันออก กล่าวว่า ทีเส็บได้จัดทำโครงการสร้างการรับรู้สินค้าและบริการด้านไมซ์ (Domestic Fam Trip) นี้ เพื่อนำกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ องค์กรหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจความพร้อมในการจัดกิจกรรมไมซ์ รวมถึงเพื่อสำรวจองค์ประกอบของมิติต่างๆ ของเมือง อันนำมาซึ่งการต่อยอดสำหรับการบูรณาการกิจกรรมไมซ์และเส้นทางไมซ์ใหม่ร่วมกัน (New Destination) โดยเฉพาะการนำเอาผลิตภัณฑ์และอัตลักษณ์ของเมืองมาต่อยอด เพื่อเป็นการกระตุ้นการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดกิจกรรมไมซ์ให้กับองค์กรในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยใช้อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านการเดินทาง อันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย
กิจกรรม Domestic Fam Trip จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ไฟนด์ เดอะ ซันเซต : จันทบุรี-ตราด’ ร่วมกว่า 30 คน ร่วมสำรวจศักยภาพของท้องถิ่น รื่นรมย์ไปกับบรรยากาศของเมืองชายทะเล ภาคตะวันออกอย่างจังหวัดจันทบุรีและตราด โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิเช่น “ขุดหาพลอย บ่อจากธรรมชาติ ร่อนพลอยแบบวิถีโบราณ” ขุดชั้นดิน แล้วนำมาร่อนเพื่อหาสินแร่อัญมณีที่สำคัญอย่างพลอย ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม พร้อมชาวเหมืองที่จะช่วยแนะนำวิธีการขุดและร่อนพลอยกันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเลือกซื้อของดีจากผู้ประกอบการในท้องถิ่น ชมกิจกรรมการนำเสนอสินค้าและบริการด้านไมซ์ ชมทัศนียภาพของหาดเจ้าหลาว ชายหาดที่สวยที่สุดในจันทบุรี
ก่อนจะออกเดินทางสู่จังหวัดตราด เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองตราด
โดยพิพิธภัณฑ์นี้ดัดแปลงจากอาคารศาลากลางจังหวัดเก่า จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของเมืองตราด โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้างที่จำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ
กิจกรรม “นั่งเรือชมธรรมชาติ ดูเหยี่ยว และปลูกป่าชายเลน” ณ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว หรือเรียกกันว่าชุมชน 2 ศาสนา ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่ช่วยกันพัฒนาให้มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างเป็นระบบเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยความสามัคคี
ปิดท้ายวันสุดท้าย ด้วยการเดินทางสู่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ในย่านเมืองเก่าจันทบุรี ซึ่งเดิมเป็นชุมชนชาวจีนและญวนอพยพ ต่อมาเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของเมืองจันทบุรีในสมัยรัชกาลที่ 5 จุดเด่นของที่นี่คืออาคารตึกแถวโบราณที่ตกแต่งด้วยลวดลายไม้อันอ่อนช้อย พร้อมทำกิจกรรม
“ห่อขนมเทียนแก้ว” ณ โรงเจ ชุมชนริมน้ำจันทบูร และเยี่ยมชมตลาดชุมชนริมน้ำจันทบูร ก่อนเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมความประทับใจและประสบการณ์แปลกใหม่
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับสำหรับโครงการนี้คือทุกท่านจะสามารถนำสินค้าและบริการในท้องถิ่นมาต่อยอดสำหรับกิจกรรมไมซ์และเส้นทางไมซ์ใหม่ในอนาคตร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ต่อไป