วันศุกร์, ธันวาคม 27, 2024

Business

ทีเส็บ แถลงความสำเร็จก้าวแรกของ “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์”พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ

ทีเส็บ แถลงความสำเร็จก้าวแรกของ “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์”พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ

ทีเส็บแถลงความสำเร็จในปีแรกของ “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” (Thailand LOG-IN Events) แผนแม่บทขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ล็อก-อิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ พร้อมเปิดตัวพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมภายใต้แผนแม่บทฯ ในปีนี้อย่างเป็นทางการ รวมถึงประกาศแนวทางผลักดันแผนแม่บทฯ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงแผนแม่บทอุตสาหกรรม “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” หนึ่งในแคมเปญสำคัญของการกระตุ้นและสนับสนุนการจัดงานไมซ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนฟื้นฟูธุรกิจสาขาต่าง ๆ อย่างเต็มศักยภาพ โดยแผนแม่บทฯ นี้เป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนและส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติในกลุ่มโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure หรือ ล็อก-อิน)

“แนวทางการดำเนินงานของแผนแม่บทอุตสาหกรรม ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ นั้น ตอบโจทย์แนวทางโครงการแผนพัฒนาประเทศระดับมหภาคของรัฐบาล เพราะกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค และประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทยหรือในพื้นที่พันธมิตรหลักอย่าง อีอีซี และพัทยา และมีแผนในการขยายพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ แผนแม่บทฯ นี้จะช่วยประสานประโยชน์และส่งเสริมสนับสนุนด้านการจัดงานในด้านต่าง ๆ เช่น สนับสนุนด้านการเงินในการจัดงานแบบวิถีใหม่ (new normal) สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาศักยภาพการรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในพื้นที่ อีอีซี การทำกิจกรรมการตลาดและการประชาสัมพันธ์งาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมแผนแม่บทฯ ถึง 5 งาน (ทั้งการขยายโพรไฟล์งาน และ นำงานไปจัดในพื้นที่ อีอีซี) ภายใต้ 3 อุตสาหกรรมภายใต้แผนแม่บทฯ นี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมด้านการเดินเรือ และอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ และคาดว่าจะมีงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้แผนแม่บทฯ ทั้งงานที่มีการขยายโพรไฟล์ในอุตสาหกรรม ภายใต้แผนแม่บทฯ และงานจัดในพื้นที่อีอีซี รวมถึง 15 งานด้วยกัน ภายในปี 2568

 

จากการดำเนินงานข้างต้น ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านพันธมิตรภาครัฐที่เข้าร่วมในแผนแม่บทฯ ได้แก่
– สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในฐานะหน่วยงานดูแลพื้นที่หลักสำหรับรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างและอำนวยความสะดวกอย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างสนามบิน ท่าเรือ และเมืองการบิน (Aerotropolis)
– กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งเสริมแผนแม่บทอุตสาหกรรมนี้ผ่านการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยที่กำลังมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพิ้นฐานครั้งใหญ่ สร้างอุปสงค์จำนวนมากเป็นโอกาสให้งานแสดงสินค้าเข้ามาตอบสนองความต้องการอย่างครบวงจร
– สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หน่วยงานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน โดยจะร่วมสนับสนุนงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้แผนแม่บทฯ ด้านการให้ความรู้กับกลุ่มนักลงทุนและดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมดิจิทัล
– เมืองพัทยา ในฐานะศูนย์กลางของพื้นที่ อีอีซี ที่พร้อมนำเสนอแพ็กเกจสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่นำงานเข้าไปในจัดพื้นที่

ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า “แผนแม่บท ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ จะมีส่วนช่วยโปรโมทและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับ
นักลงทุนได้อย่างลงตัว เพราะสำนักงาน อีอีซี มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและบริเวณใกล้เคียงให้เป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยว (Tourist Destination) และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Multimodal Logistics) รวมไปถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ อีอีซี และประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์และมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

ดร.คเณศ ย้ำเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างมาก และจะพร้อมที่จะให้บริการได้ประมาณปี 2568 – 2569 ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ผ่านการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอีกด้วย”

นางนิชาภา กล่าวทิ้งท้ายว่า “แนวทางผลักดันแผนแม่บทฯ ในปีหน้า มีแนวทางการดำเนินงานด้านกลยุทธ์เพิ่มเติมขึ้นมาอีก 3 ด้าน ด้านแรกคือ ขยายขอบเขต (Expand EEC and Targeted Industries) ขยายขอบเขตการผลักดันงานแสดงสินค้านานาชาติคลอบคลุมพื้นที่ อีอีซี เช่น ระยอง บางแสน รวมถึง ผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการจัดการภัยพิบัติ ด้านที่สอง คือ เพิ่มพลังความร่วมมือ (Government Partnership) ต่อยอดการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ที่ขยายเพิ่มเติม รวมถึงภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย และด้านที่สาม คือ บ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubation Programme: Strengthen Thai Exhibition Stakeholders)
สร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยเพื่อพร้อมรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การจัดทำคู่มือแนวทาง รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทฯ นี้ คือการได้สร้างงานแสดงสินค้าระดับโลกด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อย่าง Thailand International Air Show เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2566 และ จัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของแคมเปญสนับสนุน
และแผนแม่บทอุตสาหกรรม ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ จากทีเส็บได้ที่
exhibitions@tceb.or.th