สถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอตุสาหกรรม จัดกิจกรรม “การศึกษาดูงาน โอกาสสร้างธุรกิจ กัญชา กัญชง : การปลูก อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหาร” ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิ.ย. นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหลายภาคส่วน ทั้งธุรกิจภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะได้เรียนรู้กระบวนการจัดการฟาร์มกัญชงอัจฉริยะทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ การขออนุญาตปลูก ระบบการปลูก ขั้นตอนการอนุบาลและดูแลต้นแม่ การโคลนกิ่งพันธุ์ และการตัดช่อดอก ที่คญาฟาร์ม วิสาหกิจชุมชนคญาบาติก อ.ปักธงชัย
ทั้งยังมีโอกาสร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในช่วง Dinner talk: มองหาโอกาสทองของธุรกิจกัญชา กัญชง กับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ประโยชน์กัญชาในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงแนวทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ณ โรงแรมโรแมนติค รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมสร้างเครือข่ายการดำเนินงานระหว่างผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในการฝึกอบรมและวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น เพื่อหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง ตั้งแต่กระบวนการปลูก การใช้ประโยชน์จากสารสกัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร กล่าวในพิธีเปิด กิจกรรม “การศึกษาดูงาน โอกาสสร้างธุรกิจ กัญชา กัญชง : การปลูก อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหาร” ในวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ณ คญาฟาร์ม วิสาหกิจชุมชนคญาบาติก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ว่า อุตสาหกรรมกัญชากัญชงของไทยมีการตื่นตัวและได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก การปลดล็อกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นแรงกระเพื่อมให้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดมากมาย และส่งผลให้ตลาดกัญชา กัญชงเติบโตแบบก้าวกระโดด นับตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท โดย 5 กลุ่มสินค้าที่ต้องจับตา ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ในปี 2564 มีการผลิตและซื้อขาย “ใบกัญชา” กว่า 9.5 ตัน โดย 65% เป็นการซื้อขายเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนอีก 35% เป็นการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาสมุนไพร และเครื่องสำอาง ต่อเนื่องมาถึงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งพบว่า มีแบรนด์ชั้นนำพัฒนาเครื่องดื่มจากสารสกัดกัญชาและกัญชง ออกสู่ตลาดจำนวนมากและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี แม้อุตสาหกรรมกัญชา กัญชงของไทยจะมีความได้เปรียบด้านสายพันธุ์ เช่น กัญชาพันธุ์หางกระรอก ตะนาวศรี และหางเสือที่ให้สารสำคัญอย่าง Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ปริมาณสูง มีศักยภาพต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้พบได้ทั่วไป และต้องการการดูแลเฉพาะทำให้ไม่เป็นที่นิยมในการเพาะปลูก ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องส่งเสริมองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเข้าใจและการพัฒนาด้านกระบวนการผลิตกัญชา กัญชง ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมให้อุตสาหกรรมกัญชา กัญชง สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
สถาบันอาหาร หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถช่วยเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ การนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง โดยสถาบันฯ ตั้งเป้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเติบโต เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการได้มีแนวทางสำหรับคว้าโอกาสในธุรกิจที่เปิดกว้างนี้
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหาร ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการยกระดับความสามารถบุคลากร เพิ่มศักยภาพและผลิตภาพอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างกัญชา กัญชงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดหลักสูตร “Cannabis Workshop for Food and Beverage Products การประยุกต์ใช้กัญชาและกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม” ขึ้น ภายในหลักสูตรประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 3 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 : การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสกัดและนำพืชกัญชามาใช้ในอาหาร”
กิจกรรมที่ 2 : การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม”
กิจกรรมที่ 3 : การศึกษาดูงาน “โอกาสสร้างธุรกิจ กัญชา กัญชง : การปลูก อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหาร”
กิจกรรมที่ 1 และ 2 ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมแล้วในช่วงเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในธุรกิจของตนหรือเป็นไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง ต่อไป สำหรับกิจกรรมการศึกษาดูงาน “โอกาสสร้างธุรกิจ กัญชา กัญชง : การปลูก อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหาร” ในวันนี้ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จากผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, พท.ภ.ดร.บัญชา สุวรรณธาดา ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยโครงการ พัฒนาการแพทย์แผนไทยร่วมสมัย, คุณพริ้งแพรว เกษมคุณ เจ้าของร้านนมนัว, คุณขันติ สุขไพร่ ที่ปรึกษาด้านการลงทุนธุรกิจกัญชากัญชง,
คุณเดือนโรจน์ โรจน์รัตนะ ผู้เชี่ยวชาญการนำกัญชา พืชสมุนไพร และเครื่องเทศมาใช้ในอาหาร และคุณชนันญา ดรเขื่อนสม ประธานวิสาหกิจชุมชนคญาบาติก ผู้ประกอบการปลูกกัญชง นอกจากกิจกรรมการพัฒนาบุคลากร แล้วสถาบันอาหารยังเปิดให้บริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง ได้แก่ งานวิจัยด้านการสกัดสารสำคัญและประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรี่จากกัญชง และบริการตรวจวิเคราะห์ CBD/THC, คุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพและความปลอดภัย
ทั้งนี้สำหรับกิจกรรมที่ 1 และ 2 สถาบันอาหาร กำลังเปิดรับผู้เข้าฝึกอบรมเป็นรุ่นที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันอาหาร หรือหน้าเพจ Facebook บริการฝึกอบรม สถาบันอาหาร