ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จับมือเครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) บริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง สารปรุงแต่งในอาหารและอาหารสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง สารเคมีในอุตสาหกรรมหรือใช้ในครัวเรือน รับบริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ ซึ่งดำเนินภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิก OECD และสมาชิกสมทบ 45 ประเทศ มีสถานทูตประเทศสมาชิก OECD และบริษัทยาเข้าร่วมจำนวนมาก
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย บนพื้นฐานของการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำประเทศไทยหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ในอนาคต โดยอาศัยนำงานด้านชีววิทยาศาสตร์มาช่วยสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ทั้งนี้ ด้วยข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD และประเทศสมาชิกสมทบ ซึ่ง TCELS ได้ให้การสนับสนุน ศูนย์ทดสอบในสัตว์ทดลองเป็น Testing Facility ที่ผ่านการรับรองความสามารถตามหลักการ OECD GLP จาก สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้นำข้อมูลจากการทดสอบไปขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในสมาชิกประเทศกลุ่ม OECD และประเทศสมาชิกสมทบกว่า 45 ประเทศ เป็นอีกส่วนที่ช่วยลด Non Tariffs Barrier ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยสามารถส่งออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดความเข้มแข็งธุรกิจ อุตสาหกรรมนี้ในประเทศด้วย
ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ และ TOPT Network members กล่าวว่า เครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) เกิดจากกลุ่มห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามหลักการ OECD GLP แล้ว ซึ่งการที่ไทย ถูกประกาศยอมรับข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ของโปรแกรม Mutual Acceptance of Data – MAD ตาม
ข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จะช่วยให้ไทยมีข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ เช่น สารเคมีในทางอุตสาหกรรม (Industrial chemicals) เภสัชภัณฑ์ (Pharmaceuticals) ยาฆ่าแมลง (Pesticides) สารฆ่าหรือกำจัดสิ่งมีชีวิต (Biocides) วัตถุเจือปนอาหาร (Food additives) วัตถุเติมในอาหารสัตว์ (Feed additives) และเครื่องสำอาง (Cosmetics) รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์ สามารถไปขึ้นทะเบียนกับประเทศสมาชิก OECD ค้าขายด้วยกันได้ต่อไป
“ เครือข่ายเรายังมีโครงสร้างพื้นฐานมาตรฐานสากล มีบุคลากรที่มีความสามารถ การรวมกันของเครื่องข่าย TOPT นั้น TCELS จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับงานและกระจายให้กับเครือข่าย โดยปัจจุบันมีหน่วยงานจากจากเยอรมัน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ให้ความสนใจแล้ว เราหวังว่างานของเราจะช่วยผลักดันธุรกิจ อุตสาหกรรมขอประเทศได้อีทาง หากสนใจดูรายละเอียดได้ตาม https://thaipreclinicalcro.com” ศ.ดร.สุจินดา กล่าว
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานการทดสอบความปลอดภัยเหล่านี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการยืนยันความปลอดภัยวัคซีน การเกิดเครือข่าย Thailand OECD GLP Preclinical (TOPT) Testing network เป็นสิ่งที่ดี ทำให้เป็นส่วนสร้างเสริมความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ และยังส่งเสริมให้ประเทศมีโครงสร้างมาตรฐานการพัฒนาวัคซีนอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานสามกล ซึ่งจะเสริมสร้างและผลักดันให้ไทยพัฒนาวัคซีนใช้ในประเทศ และส่งออกได้ในอนาคต
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กล่าวว่า วว.เป็นหนึ่งในศูนย์ทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักการ OECD GLP เพื่อบริการแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชน จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศด้านการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ พบว่าประเทศไทยยังขาดช่วงของการพัฒนายาเรื่องการศึกษาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระยะก่อนคลินิก (pre-clinic) วัคซีน การเกิดเครือข่าย Thailand OECD GLP Preclinical (TOPT) Testing network จะช่วยประกันคุณภาพระบบต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล การทดสอบที่เป็นระบบ รวมทั้งการจัดการด้านข้อมูลและการจัดเก็บเอกสารให้มีความปลอดภัยสูงสุด มีการประเมินผลเป็นระยะโดยผู้ตรวจประเมินที่ได้การรับรอง มีการปรับปรุงแก้ไขและตรวจประเมินซ้ำ ด้วยการสนับสนุนทุนจาก TCELS ตลอดถึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จึงทำให้หลายหน่วยงานสามารถพัฒนาศักยภาพ จนเป็นหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยให้บริการทดสอบความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของ OECD GLP ขอให้เครือข่ายการทดสอบนี้เป็นส่วนสำคัญการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในประเทศต่อไป