วันอาทิตย์, ธันวาคม 29, 2024

Business

ข้าวสาลี…เงินล้าน โภชนาการสูง ปลูกง่ายรายได้ดี

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย กรมการข้าว, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง  จ.เชียงใหม่) ร่วมกันทำโครงการวิจัย การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนา เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ภาคเหนือ และส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย ผลักดันและเพิ่มมูลค่า ให้ “ธัญพืช” หรือ ข้าวสาลี พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่เป็นทั้งแหล่งพลังงานจากการรับประทาน และแปรรูปได้หลากหลาย  ไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด…ธัญพืชอาหารแห่งอนาคต

 

ในประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากข้าวสาลีเป็นธัญพืชเมืองหนาว ที่มีบทบาทไม่น้อยต่อชีวิตประจำวันของคนไทย ทำให้สถิติการนำเข้าของข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีในแต่ละปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีการนำเข้าข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีปริมาณ 1,035,798 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11,003 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2560 และ 838,737 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,511 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2561 (สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศ, 2561) ข้าวสาลีจึงเป็นพืชทางเลือกที่มีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี การวิจัยนี้จึงได้รับการสนับสนุนทุน จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มาตั้งแต่ปี 2563 – 2565  เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่และพัฒนากระบวนการวิจัยและรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ

 

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.  กล่าวว่า “ในโครงการวิจัยธัญพืชเมืองหนาว ภายใต้แนวคิด ธัญพืชอาหารแห่งอนาคตนี้ ได้มีการนำ BCG Model มาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่การผลิตธัญพืชเมืองหนาว ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ ไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตที่สูง (จากเดิม 150 – 250 กก./ไร่ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการวิจัย 450 – 550 กก./ไร่) การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี, สองเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากการพัฒนาหลอดดูดธรรมชาติที่ผ่านมาตรฐาน       การพัฒนาการผลิตช่อดอกข้าวสาลี การพัฒนาการผลิต Wheat Grass ชนิดน้ำและผง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาว (หมั่นโถ, wheat grass, น้ำนมข้าวสาลี,ผลิตภัณฑ์กราโนล่า เป็นต้น และสุดท้ายคือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ด้วยการพัฒนาการผลิตแบบไม่ใช้สารเคมี และการผลิตแบบอินทรีย์  รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบเชิงนิเวศน์ทางการเกษตร Eco Agrotourism ในชุมชนเขต ป่าบงเปียง, สะเมิง, แม่แตง ฯลฯ

 

ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา หนึ่งในทีมวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นหัวหน้าโครงการ กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการวิจัย ‘ธัญพืช’ หรือ ข้าวสาลี ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมพื้นที่ให้เป็น Eco Agrotourism ว่า “ธัญพืช เป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชุมชนในเขตภาคเหนือตอนบนหรือล้านนา เป็นแหล่งอาหารที่มีทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ธัญพืชส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการ   แปรรูปเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยเราเลือกที่ชุมชนบ้านป่าบงเปียง จ.เชียงใหม่  เป็นหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ ที่ทำอาชีพปลูกข้าวโพด และข้าวซึ่งการปลูกข้าวสาลีของที่นี่จะปลูกแบบขั้นบันไดสวยงาม เมื่อมาผนวกกับทิวทัศน์ที่อยู่โดยรอบ มีหมอกบางๆ บรรยากาศดีๆ ยามเช้า กลายเป็นสถานที่ที่ใครหลายคนก็อยากมาเที่ยวชม”

 

 

โครงสร้างเศรษฐกิจของเขตภาคเหนือตอนบน ขับเคลื่อนโดยภาคบริการและภาคเกษตร ซึ่งภาคเกษตร (ส่วนมากเป็นพืช) คิดเป็น 26% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม สภาพแวดล้อมที่เขตภาคเหนือตอนบนของประเทศสามารถปลูกธัญพืชเหล่านี้ได้ แต่สภาพตลาดที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง  ทำให้กำลังการผลิตในประเทศลดลง ความพยายามพัฒนาเพื่อผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเอกลักษณ์แห่งล้านนา   ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือจึงเกิดขึ้น

 

ภาคเหนือโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวสาลี หรือข้าวที่เป็นธัญพืชได้ดีที่สุด อีกทั้งเกษตรกรมีความคิดที่ค่อนข้างสมัยใหม่ พื้นที่มีศักยภาพ จึงต้องมีการส่งเสริมที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์  ข้าวโอ๊ต ความน่าสนใจของพืช มีความหลากหลายทางพันธุกรรม มีคุณค่าสูง     มีความสวยงาม ลำต้นแข็งแรง เราต้องศึกษาว่าแบบไหนตรงใจผู้ใช้ประโยชน์และผู้ประกอบการ ต้องปลูกแบบเปรียบเทียบพันธุ์ ปลูกแบบให้รู้ว่าในช่วงไหนจะได้ผลผลิตดีที่สุด ในแต่ละพื้นที่ก็ยังต้องมาเทียบกันอีกว่า เหมาะกับเทคนิคที่ใช้หรือไม่ ต้องส่งเสริมการผลิตให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อไปสู่การแปรรูปที่หลากหลาย เช่น  แป้งขนมปัง แป้งเค้ก ขนมปังแผ่น  โรตี คุ้กกี้ บะหมี่ มักกะโรนี สปาเก็ตตี อาหารเด็กอ่อน เกิดการแปรรูปจากข้าวสาลีงอก น้ำคั้นต้นข้าวสาลีอ่อน มอลท์ข้าวสาลี หรือชาจากต้นอ่อนของข้าวสาลี รวมถึงลำต้นที่แข็งแรงของข้าวสาลี สามารถนำไปผลิตเป็นหลอดดูดแบบย่อยสลายได้” ดร.สุรพล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

 

            กลไกการพัฒนาธัญพืชอาหารแห่งอนาคต สู่เป้าหมาย  เริ่มดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ทั้งหน่วยงานราชการ เกษตรกรและภาคเอกชน โดยกระบวนการการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) โดยภาคเอกชนเป็นผู้กำหนดความต้องการข้าวสาลีที่มีคุณลักษณะเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรม ภาคราชการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม พร้อมเทคโนโลยีการผลิตและเมล็ดพันธุ์ตามความต้องการของตลาด เกษตรกรผลิตข้าวสาลีตามสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตตามข้อแนะนำของหน่วยราชการ ทำให้เกิดผลสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมธัญพืชเมืองหนาว ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

 

เมื่อพัฒนาคุณภาพแล้วมีตลาดรองรับราคาดี  มีความต้องการของ ผู้บริโภคที่รักสุขภาพสูง  โครงการวิจัย การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนา เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน จึงเป็นการการส่งเสริมการผลิตธัญพืชของล้านนา ที่เชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่ การผลิต การแปรรูป และการตลาดเข้าด้วยกัน ไปสู่แนวคิด ธัญพืชอาหารแห่งอนาคต อย่างลงตัว สามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้อย่างแท้จริง…

 

 

ติดตามแนวคิดงานวิจัย ธัญพืชอาหารแห่งอนาคต และผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา  ผลงานวิจัยต่างๆ และทุนวิจัยได้ที่เว็บไซต์ สวก. https://www.arda.or.th/