ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า ผลตอบรับจาก โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่ง TED Fund ได้ส่งเสริมและสนับสนุนทางการเงิน ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจและพัฒนาศักยภาพ พร้อมจัดสรรเงินทุนสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการผู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเสนอจำนวนกว่า 1,000 ข้อเสนอโครงการ โดยมีผู้ผ่านคัดเลือกและได้รับทุนจำนวน 161 โครงการ รวมมูลค่าทุนสนับสนุน 106,405,709 บาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 1. โปรแกรม IDEA (Ideation Incentive Program) ให้ทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าวงเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญา ตรี โท เอกหรือบัณฑิตจบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำไปพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ มีผู้ได้รับการสนับสนุนโปรแกรมนี้ไปจำนวนทั้งสิ้น 88 โครงการ และ 2. โปรแกรม POC (Prove of Concept) ให้ทุนสนับสนุนแบบสมทบบางส่วน วงเงิน 500,000 – 1,500,000 บาท แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ต่อยอดงานวิจัยและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีผู้ได้รับการสนับสนุนโปรแกรมนี้ไปจำนวนทั้งสิ้น 73 โครงการ
ตลอดมา TED Fund ได้ร่วมมือกับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ซึ่งมีบทบาทในการช่วยแสวงหา คัดกรอง และบ่มเพาะผู้ประกอบการยุววิสาหกิจเริ่มต้นที่มาสมัครขอรับทุนจาก TED Fund จนนำมาสู่การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดย TED Fellow แบ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชน/อุทยานวิทยาศาสตร์ และบริษัทภาคเอกชน จำนวน 34 หน่วยงาน ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า สำหรับนโยบายและแผนในการจัดสรรเงินสนับสนุนทุนโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ในปี 2565 นั้น TED Fund ได้จัดสรรงบประมาณไว้ในวงเงิน 127.5 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการ โดยแบ่งเป็นโปรแกรม IDEA จำนวน 150 โครงการ และโปรแกรม POC จำนวน 75 โครงการ และจะยังคงจัดกิจกรรมดีๆ ขึ้นภายในปีหน้าอย่างแน่นอน รูปแบบการจัดงานจะมุ่งเน้นที่การกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ส่วนลักษณะของกิจกรรมจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น คงต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง และนอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนแก่วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) แล้ว TED Fund จะยังคงมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการอบรมในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นโดย TED Fund และเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) นับเป็นความร่วมมือและเปิดโอกาสที่สำคัญแก่ผู้ประกอบการที่จะได้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อไป
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่มีการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) นับว่าประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้สามารถเติบใหญ่และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันและต่อยอดผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากกว่า 340 โครงการ สนับสนุนทุนให้ผู้ประกอบการรวมแล้วมากกว่า 410 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยประมาณ 540 ล้านบาท จุดประกายแนวคิดการเริ่มต้นธุรกิจกว่า 3,000 โครงการ และพัฒนาผู้ประกอบเพื่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า TED Fund ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนา คิดค้น และสร้างสรรค์โครงการดีๆ เพื่อนำผู้ประกอบการเทคโนโลยีของไทยมุ่งสู่ความสำเร็จอย่างครอบคลุมและกว้างไกล