แคมเปญผู้บริโภคที่รัก และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
ร่วมวิพากษ์ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งมีที่มาจากอุตสาหกรรมการผลิตไก่
พร้อมเสนอวิธีแก้ไข ผ่านการรวมพลังผู้บริโภค เรียกร้อง 4 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เพิ่มสัดส่วนขาย “ไก่ไร้ฝุ่น”
ฝุ่นพิษ PM 2.5 คือปัญหามลภาวะระดับชาติ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทราบหรือไม่ว่าอีกหนึ่ง อุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทยเป็นอย่างมากคืออุตสาหกรรมการผลิตไก่เพื่อบริโภคนั่นเอง หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าฝุ่นพิษ PM2.5 จะเกี่ยวข้องกับไก่ได้อย่างไร Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทยผู้ดำเนินงานแคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ จึงได้จัดเสวนา “แฉเบื้องหน้า เบื้องหลัง อุตสาหกรรมการผลิตไก่” ผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ทางแฟนเพจ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ เพื่อชี้ให้เห็นปัญหา และผลกระทบของกระบวนการผลิตไก่ ที่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยมีคุณฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) มาเปิดเผยเรื่องราวของ “ไก่อมฝุ่นพิษ” พร้อมวิทยากรรับเชิญอย่างคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คอนเทต์ ครีเอเตอร์ ชื่อดังที่มีความสนใจและมีบทบาทในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหามลภาวะ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมในการผลิตไก่ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
อุตสาหกรรมการผลิตไก่กับฝุ่นพิษ PM2.5 เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
“ไก่ถือเป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด และเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่ต้องการของตลาดทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยบริโภคไก่เฉลี่ยเกือบ 30 กิโลกรัม ต่อปี นอกจากนี้ประเทศไทยยังส่งออกไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก หากนับสหภาพยุโรปรวมเป็น 1 ประเทศ ด้วยปริมาณราว 910 ตัน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก แต่ทว่าเมื่อสืบไปหาต้นตอหลักของปัญหา กลับไม่ใช่ที่ตัวไก่ แต่เป็น ‘การเผาป่า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวงจรของการปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงไก่ และเมื่อความต้องการในการบริโภคไก่มากขึ้น ความต้องการอาหารสัตว์ในการเลี้ยงไก่ก็ยิ่งเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะไก่ที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ที่จะถูกขุนด้วยอาหารสูตรพิเศษที่ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 1 เดือนกว่าๆก็ถึงเกณฑ์ที่จะนำไปบริโภค ในขณะที่ไก่บ้านทั่วไปต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 เดือนจึงจะโตเต็มไว้และนำไปบริโภคได้ เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้นก็ก่อให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูก จนต้องขยายขึ้นไปปลูกบนภูเขา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เหตุที่ต้องเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูก อันเนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันจึงไม่สามารถไถกลบแบบปกติได้ นอกจากนี้ยังเป็นวีธีที่ทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ และนี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และค่ามลภาวะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ สูงจนในบางช่วงประเทศไทยมีค่าฝุ่นสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเหตุการณ์เช่นนี้” คุณฐานิตา วงศ์ประเสริฐ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของไก่อมฝุ่นพิษ
คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ได้แสดงความคิดเห็นหลังจากได้รับฟังเรื่องราวของไก่อมฝุ่นพิษว่า “แม้ว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 จะเกิดจากหลายที่มาที่ไป ไม่ว่าจากรถยนต์ โรงงาน หรือการก่อสร้าง แต่ทราบหรือไม่ว่าการเผาในภาคเกษตรกรรมในประเทศเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 มากที่สุด และเมื่อศึกษาไปยังต้นตอของปัญหาเราจะพบว่า 30-40% เกิดจากการเผาเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในสังคม และเชื่อมโยงทั้งในส่วนของสิทธิทางสังคม ความเสมอภาค รวมไปถึงความเท่าเทียม ดังนั้นพฤติกรรมต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เราเอง ก็สามารถส่งผลกระทบได้ในวงกว้างไม่เพียงแต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ดังนั้นเราทุกคนจึงจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน”
เกษตรกรไม่ใช่อาชญากรเป็นเพียงเหยื่อรายหนึ่งของวงจร
คุณฐานิตา กล่าวต่อไปว่า “เกษตรกรเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในวงจรอุตสาหกรรมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อความต้องการบริโภคไก่เพิ่มขึ้น เลยต้องปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น เพื่อส่งต่อให้กับนายทุนที่ไมได้มีส่วนรับผิดชอบในขั้นตอนหลังเก็บเกี่ยว ทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเวลามีข่าว เกษตรกรจะตกเป็นจำเลยสังคมในอันดับแรก ไม่ใช่พวกเขาไม่มีความรู้ แต่เขาไม่มีทางเลือก เพราะการปลูกข้าวโพด 1 ไร่ได้กำไรเฉลี่ยเพียง 1,600-2,000 บาทเท่านั้น เมื่อหักลบต้นทุนแล้วกำไรที่ได้ก็มีมูลค่าน้อยมาก และราคาก็ไม่สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อันเนื่องมาจากต้นทุนของฟาร์มไก่ 40-50% มาจากราคาของอาหารสัตว์ ดังนั้นหากต้นทุนของอาหารที่สำคัญอย่างข้าวโพดมีราคาสูงขึ้นก็จะทำให้ราคาไก่เพิ่มสูงตามไปด้วยเช่นกัน ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือก ผนวกกับพื้นที่เพาะปลูกที่มีความลาดชัน ทำให้การเผาหน้าดิน และหยอดเมล็ดเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัดต้นทุนที่สุดสำหรับการปลูกข้าวโพด ซึ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาระดับโครงสร้างที่ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้น”
คุณวรรณสิงห์ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตไก่กลายเป็นต้นตอใหญ่ของฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุกฝ่ายจะต้องคิด และทำงานร่วมกันว่า ถ้าเกษตรกรจะต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยไม่ใช้วิธีการเผา ในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำอย่างไร รัฐจะช่วยสนับสนุนเครื่องมือให้ได้หรือไม่ หรือมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่ทำให้ของเหลือจากภาคเกษตรกรรมเหล่านี้อย่างซังช้าวโพด ฟางข้าว หรือชานอ้อยต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในเชิงพลังงาน ได้หรือไม่ หรืออีกทางหนึ่งคือบริษัทที่รับซื้อไก่จะรับผิดชอบในต้นทุนเหล่านั้นไว้เอง เป็นกระบวนการที่จะต้องคิดตามมา ไม่สามารถเดินไปบอกเกษตรกรได้ว่าห้ามเผา เป็นสิ่งทีเค้าจะไม่เข้าใจเลย แต่การเข้าใจเรื่องต้นทุนจะทำให้เรามองหาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนส่วนนั้นกันแน่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”
ไก่ไร้ฝุ่นคือความหวังของผู้บริโภค
แคมเปญผู้บริโภคที่รักเชื่อมั่นและสนับสนุนความร่วมมือที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเราเชื่อว่าแคมเปญนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไก่ อุตสาหกรรมข้าวโพด รวมถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และมีศักยภาพ ในการดำเนินนโยบายได้อย่างรวดเร็วและอิสระ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ดีขึ้น ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผผู้บริโภคด้านความปลอดภัย แต่ยังรวมไปถึงการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมต่อเกษตรกรได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเราจะขาดแรงผลักดันและสนับสนุนจากผู้บริโภคไม่ได้ เราจึงจึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันใช้เสียงที่ตัวเองมีรวมพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านการร่วมลงชื่อในแคมเปญ ไก่ไร้ฝุ่นทางเว็บไซต์ Change.org/HazeFreeChicken เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ 4 แบรนด์ได้แก่บิ๊กซี (Big C), โลตัส (Lotus’s), (ท็อปส์) Tops และแมคโคร (Makro) เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มสัดส่วนในการจัดจำหน่ายไก่ที่ถูกเลี้ยงโดยข้าวโพดที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเผาไร่ หรือ “ไก่ไร้ฝุ่น” โดยเราเชื่อว่า Haze Free Chicken หรือไก่ไร้ฝุ่นคือความหวังของผู้บริโภค ที่ดีต่อโลกและดีต่อปอด โดยองค์กรไม่ได้ต้องการให้คนเลิกบริโภคไก่ แต่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออาหารที่ดี มีความปลอดภัย ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อเกษตรกร รวมถึงรู้ที่มาของอาหาร ว่าสิ่งที่เรารับประทานผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง พลังของผู้บริโภคมีส่วนอย่างยิ่ง ในเชิงนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งมีผู้เรียกร้องมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังในการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมารับฟังได้ง่ายขึ้น การคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทำอยู่แล้ว แคมเปญของเราแค่เป็นการนำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น แม้ตอนนี้จะยังไม่มีไก่ไร้ฝุ่นให้ซื้อในท้องตลาดแต่เราเชื่อว่า เสียงของผู้บริโภคมีพลังที่จะทำให้ไก่ไร้ฝุ่นถูกนำมาขายในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างแน่นอน” คุณฐานิตากล่าวสรุป
ร่วมรวมพลังผ่านการรณรงค์ และลงชื่อในแคมเปญ ไก่ไร้ฝุ่น เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เพิ่มเพิ่มสัดส่วนในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ ที่บริโภคข้าวโพดที่เพาะปลูกโดยไม่ผ่านกระบวนการเผาไร่ได้ที่ Change.org/HazeFreeChicken
คุณฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam)
คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล แขกรับเชิญ
คุณจักรกฤต โยมพยอม ผู้ดำเนินรายการ