“เตียงต่อชีวิต” โครงการฉุกเฉินที่ใช้แนวความคิด Forward Thinking แบบเชิงรุกจากทีมโรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาทุกชีวิตให้ได้มากที่สุดจากภาวะวิกฤตโควิด-19 และยอมเสียสละทรัพยากรของโรงพยาบาลสูงสุด เพิ่มเตียงผู้ป่วยให้มากขึ้น คิดเป็นเตียงผู้ป่วยโควิดถึง 25% ของเตียงทั้งหมด เปลี่ยนอาคารสูติฯ ให้เป็นห้องแรงดันลบที่รักษาต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยสีส้มเข้ม – แดง เป้าหมาย 54 เตียง ซึ่งคาดว่าจะช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า 1,350 ชีวิตในระยะเวลา 2 ปี
ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ปัจจุบันเราเป็นโรงพยาบาลตั้งมากว่า 100 ปี โดยเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง ที่เป็น 1 ใน 6 โรงพยาบาลหลักที่ดูแล 6 โซนของกรุงเทพมหานคร โดยทางโรงพยาบาลจะรับเคสผู้ป่วยจากโซนธนบุรีใต้ (ปิ่นเกล้า บางแค) จากที่ทุกคนทราบว่าสถานการณ์ในตอนนี้ค่อนข้างมีความรุนแรง ทางโรงพยาบาลเองมีความมุ่งหวังในการช่วยเคสให้ได้มากที่สุด จากการทำงานกันอย่างเต็มที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเรามีทั้งหมด 800 เตียง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 3,000 คน ในการต่อสู้กับวิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันเรามี ward ในการดูแลคนไข้สีแดง 2 วอร์ด, ส้ม/เหลือง 2 วอร์ด, เหลือง 1 วอร์ด รวมจำนวน 150 เตียง โดยเตียงของเรานั้นรองรับเต็มอัตรา แต่ด้วยจำนวนของผู้ป่วยที่มีเพิ่มเติมเข้ามาทุกวัน เราจึงมีความจำเป็นต้องขยายจำนวนเตียงเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อเตียงมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณเตียงละ 350,000 – 500,000 บาท โดยจะมีการเพิ่มเติมอีก 4 วอร์ด ประกอบด้วย 2 วอร์ดดูแลคนไข้สีแดง (วิกฤต) และ 2 วอร์ดดูแลคนไข้สีส้ม (กึ่งวิกฤต) รวมจำนวน 54 เตียง โดยแปลงสภาพอาคารสูติฯ เดิมให้กลายเป็นอาคารที่รองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเติมประมาณ 25%
ด้าน รศ.ดร.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล กล่าวว่า ด้วยการปรับปรุงอาคารสูติฯ เดิม นอกเหนือไปจากเตียงรักษาที่ต้องการเพิ่มเติมประมาณ 54 เตียงแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตคือ ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) เนื่องด้วยห้องนี้สามารถควบคุมทางเดินของอากาศได้ โดยประโยชน์ของห้องแรงดันสูงจะเป็นประโยชน์ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) เพื่อควบคุมเชื้อโรคไม่ให้ออกไปยังด้านภายนอกห้องเพิ่มความเสี่ยงกับบุคลากรและส่วนกลางของโรงพยาบาล และ 2) สามารถนำเชื้อโรคไปกรองได้ ก่อนปล่อยออกไปสู่ข้างนอก นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่สำคัญจำเป็นได้แก่ อุปกรณ์ที่ต้องมีการจัดซื้อเพิ่มเติม ไม่ใช้ชุดเดียวกับผู้ป่วยปกติ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาทิ
1.อุปกรณ์สำหรับตรวจ เช่น มอนิเตอร์ไว้ตรวจค่าต่างๆ, เครื่องเอกซ์เรย์เคลื่อนที่
2.อุปกรณ์สำหรับรักษา เช่น เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก
3.อุปกรณ์ป้องกันทีมแพทย์ เช่น ชุด PPE, หน้ากาก N95 ที่อุปกรณ์เหล่านี้ ปกติทางโรงพยาบาลจะมีสต็อกเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่ปัจจุบันมีใช้เพียงสัปดาห์ต่อสัปดาห์
สำหรับ “เตียงต่อชีวิต” เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราต้องการรวบรวมเงินเพื่อสร้างหอพักผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อรองรับวิกฤตในครั้งนี้ให้ผ่านไปได้แบบไม่ต้องทิ้งใครไว้ระหว่างทาง โดยเตียง 1 เตียง ที่ท่านร่วมบริจาคเข้ามาสามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้อีกอย่างน้อย 25 ชีวิต นายแพทย์เมษัณฑ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับช่องทางในการบริจาค
- สามารถมาบริจาคได้ด้วยตนเองที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
- บริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี เงินบริจาคคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เลขที่บัญชี 012-031980-2
- สแกนQR Codeของ E-Donation
- หรือสำหรับอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากร อาทิ ชุดPPE,แอลกอฮอลล์, หน้ากาก N95 สามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลฯ
- ผู้ที่ต้องการใบเสร็จลดหย่อนสามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ โดยส่งใบเสร็จได้ทางไลน์ไอดี@vajiranpสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของยอดบริจาค
มาร่วมสร้าง “เตียงต่อชีวิต” ให้กับทุกคน เพราะเราไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่ง คนที่รอคอยเตียงอาจจะเป็นคนที่เรารักมากที่สุดก็เป็นได้ รายละเอียดเพิ่มเติม 02-244-3030 และทางไลน์ @vajiranp
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room)
ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) เป็นห้องที่สร้างขึ้นแบบพิเศษสุดๆ ในโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วย และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยคุณสมบัติที่เป็นห้องปรับความดันอากาศภายในห้องให้ต่ำ ให้เป็น Negative พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือใช้อุปกรณ์เครื่องมือปรับแรงดันบรรยากาศในห้อง ทำให้ห้องนั้นมีแรงดันบรรยากาศอากาศ ต่ำกว่าแรงดันบรรยากาศอากาศภายนอกห้อง (นั่นคือที่มาของคำว่า แรงดันลบ หรือ ความดันลบ) โดยห้องดังกล่าวมีความพิเศษ ดังนี้
– ใช้ระบบควบคุมความดันบรรยากาศในห้องให้เป็นลบ ซึ่งการปรับความดันบรรยากาศภายในห้องให้เป็นลบ (Negative) หรือมีแรงดันบรรยากาศต่ำกว่าภายนอกห้องนั้น โรงพยาบาลบางแห่งได้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีความดันบรรยากาศภายในห้อง AnteRoom ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียงไม่น้อยกว่า 10 Pascal และต้องมีความดันบรรยากาศภายในห้อง Isolate Room ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียงไม่น้อยกว่า 20 Pascal เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน ไหลออกมาสู่ภายนอกห้อง ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ชื้อโรคที่อยู่ภายในห้องไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่อากาศภายนอกห้อง